กัญชา เป็นพืชสกุล Cannabis อยู่ในวงศ์ Cannabaceae มีลำต้นเตี้ยไม่ถึง 2 เมตร มีแฉกน้อยเพียง 5-7 แฉก ใบสีเขียวถึงเขียวจัด ต่างจากกัญชงที่มีลำต้นสูงเกิน 2 เมตร มีแฉกมากถึง 7-11 แฉก ใบมีสีเขียวอมเหลือง โดยกัญชาจะให้สารสำคัญทางการแพทย์ อย่าง CBD และ THC
THC และ CBD คืออะไร
สารสองอย่างนี้มีชื่อเต็มคือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากที่สุดในพืชตระกูลกัญชา และกัญชง โดย THC จะพบมากใน กัญชา ส่วน CBD จะพบมากใน กัญชง ถึงแม้ว่าสาร 2 ชนิดนี้จะมาจากพืชตระกูลเดียวกัน แต่คุณสมบัติและประโยชน์ ที่ได้นั้นแตกต่างกัน
ประโยชน์ของ THC และ CBD
THC ขึ้นชื่อเรื่องการนำมาใช้เพื่อผ่อนคลาย ส่งเสริมสุขภาวะการนอนหลับ แต่สารชนิดนี้ก็ยังมีประโยชน์ทางการแพทย์และต่อสุขภาพของผู้ใช้ เช่น
- บรรเทาอาการข้างเคียงของการทำคีโมฯ รักษามะเร็ง
- บรรเทาอาการภูมิแพ้
- เส้นเลือดตีบ
- บรรเทาอาการเอชไอวี/เอดส์
- บรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง
- บรรเทาอาการติดเชื้อหรืออักเสบ
- ช่วยเสริมสร้างระบบย่อยอาหาร
CBD แม้ว้าสาร จะไม่ออกฤทธิ์ทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดอาการเมา แต่ในวงการแพทย์มองว่าเป็นสารชนิดนี้เป็นที่น่าสนใจมากที่สุด โดยพบว่ามีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพอยู่หลายประการ อาทิ
- บรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรังจากมะเร็ง
- บรรเทาอาการลมบ้าหมู
- บรรเทาอาการของโรค ALS หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- บรรเทาอาการพาร์กินสัน (อาการสั่น)
- ลดปัญหาสิวและอาการผิวแห้ง
- บรรเทาอาการซึมเศร้า
- บรรเทาอาการโรคเบาหวาน
- บรรเทาอาการทางจิตเภทต่าง ๆ
- บรรเทาอาการลงแดงจากสารเสพติดอื่น ๆ
- บรรเทาและป้องกันโรคหัวใจ
โดยหลักแล้วพืชกัญชาจะมี 3 สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา สายพันธุ์อินดิกา และสายพันธุ์รูเดอราลิส
ซาติวา (Cannabis sativa) มีแหล่งกำเนิดบริเวณเส้นศูนย์สูตร แบบร้อนชื้น เช่น โคลัมเบีย เม็กซิโก (ทวีปอเมริกา) ตอนกลางของทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในประเทศไทย มักพบในแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม บริเวณจังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม
ซาติวามีลำต้นหนา ความสูง ใบยาว เรียว สีเขียวอ่อน (เมื่อเทียบกับอินดิกา) ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 9-16 สัปดาห์ ชอบแดดและ อากาศร้อน มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้เคลิ้ม เพื่อใช้ในการรักษา สูงกว่าอินดิกา
อินดิกา (Cannabis indica) ได้ชื่อตามแหล่งกำเนิดที่ค้นพบในอินเดียและบริเวณตะวันออกกลาง อินดิกามีลำต้นพุ่มเตี้ย ความสูงเมื่อเติบโตเต็มที่ประมาณ 180 เซนติเมตร ใบกว้าง สั้น สีเขียวเข้ม (เมื่อเทียบกับซาติวา) กิ่งก้านดกหนา ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์ ชอบที่ร่มและอากาศเย็น เช่นเทือกเขาฮินดูกูช ในอัฟกานิสถาน อินดิกามีสาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาท (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง ทั้งยังนิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเครียดให้รู้สึกผ่อนคลาย
รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) มีแหล่งกำเนิดบริเวณตอนกลางและตะวันออกของทวีปยุโรป เติบโตได้ดีทั้งในอากาศหนาวเย็นและกากาศร้อน มีลำต้นเตี้ยที่สุดในบรรดา 3 สายพันธุ์ ดูคล้ายวัชพืช ใบกว้างมี 3 แฉก ปริมาณสาร THC น้อย แต่มี CBD สูง จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม แม้จะให้ผลผลิตเร็วที่สุดก็ตาม และมักนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ (hybrid) กับซาติวาและอินดิกา เพื่อให้ได้ คุณสมบัติทางยาสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการนำกัญชา 3 สายพันธ์หลักนี้ ไปผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้ได้คุณสมบัติทางยาเพิ่มขึ้น เช่น ซีบีดี คริทิเคิล แมส (CBD Critical Mass) ประกอบด้วยอินดิกา 80% และซาติวา 20% ทำให้ได้ THC ประมาณ 5-10% และ CBD ประมาณ 5-10%
ส่วนสายพันธ์ผสมอินดิกา 50% และซาติวา 50% ได้แก่ เอส เอ จี อี ซีบีดี (S.A.G.E. CBD) ทำให้ได้ THC 9.54% และ CBD 9.37% แคนนาโทนิก (Cannatonic) ได้ THC 6% และ CBD 6-17% ซีบีดีเธอราพี (CBD Therapy) ได้ THC 0.5% และ CBD 8-10%
สำหรับประเทศไทย เรามีกัญชาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศว่าเป็นสายพันธุ์ดีติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก อย่าง กัญชาสายพันธุ์ ‘หางกระรอก’ (Thai Stick) ซึ่งบางที่มาระบุว่าเป็นพันธุ์ผสมระหว่างซาติวาและอินดิกา แต่ข้อมูลส่วนใหญ่มักชี้ว่าเป็นพันธุ์ซาติวาอย่างเดียว โดยกัญชาไทยสายพันธุ์นี้มีปริมาณสาร THC หรือสารที่มีคุณประโยชน์ในทางรักษาสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากภูมิอากาศร้อนชื้นในบ้านเราเป็นปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร มาตั้งแต่สมัยโบราณก่อนจะถูกกำหนดให้เป็นสิ่งเสพติด
เนื่องจากขณะนั้นเกิดการกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ปราบปรามกัญชาในประเทศไทยอย่างจริงจัง ส่งผลให้กัญชาสายพันธุ์หางกระรอกหายไปทั้งในแง่ขององค์ความรู้ด้านการผลิต และการเป็นสายพันธุ์ต้นตำรับ ปัจจุบัน Thai Stick ได้รับการขนานนามว่าเป็น Lost Art หรือศิลปะที่หายสาบสูญ แต่หลังจากที่บ้านเราปลดล็อคกัญชา มีมีการฟื้นฟูกลับมาเพาะปลูกหลาย ๆ ที่ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร (RMUTI) ฯลฯ