ตรึงไม่ไหวแล้ว !! “ก๊าซหุงต้ม” ขึ้นราคา 423 บาท/ถัง เริ่มแล้ว 1 มี.ค. 66
ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในปัจจุบันยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 16 ม.ค. 66 ราคา LPG นำเข้าอยู่ที่ 698 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีก LPG ในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
และเมื่อเดือนต.ค.2565 กบง.ได้มีมติให้คงราคาก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก.ไว้ 1 เดือน จะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2565 เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงพิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดราคา LPG เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ขณะเดียวกันยังคงต้องคำนึงถึงสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ที่ประชุมจึงได้มีมติดังนี้
- เห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 1 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 -28 กุมภาพันธ์ 2566
- ปรับราคาขายปลีก LPG เพิ่มอีก 15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในเดือนมีนาคม โดยจะปรับเป็นราคาขายปลีก 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลตั้งแต่ 1 -31 มีนาคม 2566
ทั้งนี้ ประชุม กบง. ได้มอบหมายให้ สนพ. ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม กบง. ยังได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าประจำเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ซึ่งมีค่า Ft เรียกเก็บที่ 93.43 สตางค์ / หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน มีรายละเอียดดังนี้
- จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 1-150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ / หน่วย
- จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ / หน่วย
โดย กระทรวงพลังงาน (พน.) ประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้จะมีผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 19.66 ล้านราย และคาดว่าจะใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน และงบที่ได้รับการจัดสรรโดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ระเบียบและขั้นตอน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ